ซั้งเชือกเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน
Abstract
ซั้งเป็นสิ่งที่ชาวประมงสร้างขึ้น เพื่อรวบรวมสัตว์น้ำตามธรรมชาติในทะเลให้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ต้องการ โดยทำโครงสร้างเป็นวัตถุลอยน้ำ อาจจะทำจากแพไม้ไผ่ลอยที่ผิวน้ำ ด้านล่างมีเชือกต่อเป็นสายยาวลงไป และผูกวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ กิ่งไม้ ใบไม้ที่ให้ร่มเงาในน้ำได้ดี เช่น ทางมะพร้าว หรือใบจากยื่นแผ่ออกเป็นกิ่งก้าน ด้านล่างของเชือกจะถ่วงและยึดอยู่กับที่ด้วยหิน หรือ วัสดุมีน้ำหนักอื่น ๆ เช่น ปูน หรือถุงทราย (รูปที่ 1) เนื่องจากเส้นใยธรรมชาติจะถูกย่อยสลายได้ ดยง่ายเมื่อทิ้งซั้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งมีการย่อยสลายของวัสดุนั้น แล้วก็จะเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เรียกว่า “แพลงค์ตอน” ซึ่งมีทั้งแพลงค์ตอนพืชและสัตว์เกิดขึ้น และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามเวลาและความอุดมสมบูรณ์ของวัสดุทำซั้ง ต่อจากนั้นจะเริ่มมีสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ปลา ปู หอย เพรียง เข้ามาอยู่อาศัย หาอาหารหรือเกาะติดถาวรและสืบพันธุ์ โดยกินสัตว์เล็ก ๆ พวกแพลงค์ตอนเหล่านี้เป็นอาหารจนกระทั่งมีจำนวนมากขึ้นในปริมาณที่ปลาและสัตว์น้ำใหญ่เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยด้วย ในที่สุดก็เป็นระบบนิเวศน์ใต้น้ำที่สมบูรณ์ได้อีกแห่งหนึ่ง
Citation
สำนักงานฝ่ายฝึกอบรม. (2552). ซั้งเชือก เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน. ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.